อาชีพเทคนิคการสัตวแพทย์คือ
9 january 2555 (เข้าชมแล้ว 2346 ครั้ง)
“เทคนิคการสัตวแพทย์” เป็นสาขาวิชาใหม่ในประเทศไทย เป็นสาขาวิชาที่มีความรู้ความสามารถที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางห้อง ปฏิบัติการ การพยาบาลสัตว์ การปฏิบัติการเอ็กซ์เรย์ ไป จนถึงการดูแลสัตว์ป่าและสัตว์ทดลอง เรียกได้ว่าเป็นวิชาชีพที่ทำงานได้หลากหลายเลยทีเดียว ในต่างประเทศสาขาวิชานี้ถูกจัดเป็นวิชาชีพที่ทำงานควบคู่กับสัตวแพทย์ด้วย กันเสมอมา โดยแต่ละสาขาก็ทำงานแตกต่างกันออกไปแต่ยังร่วมมือกันในการทำงาน วิชาชีพทางสัตวแพทย์จึงมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น สำหรับต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสหรัฐอเมริกาได้มีการจัดแบ่งอาชีพทาง ด้านสัตวแพทย์ออกเป็น 4 ส่วนคือ
สัตวแพทย์ (Veterinarian) เป็นสาขาที่ใช้เวลาในการศึกษารวมทั้งสิ้น 6 ปี เมื่อจบการศึกษาจะได้รับคุณวุฒิเป็นสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิต ซึ่งมีหน้าที่หลักในการตรวจรักษาสัตว์ป่วยเพื่อให้สัตว์ป่วยได้มีสวัสดิภาพ สุขภาพที่ดีขึ้น
นักเทคนิคการสัตวแพทย์ (Veterinary Technologist) คือผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาเทคนิคการสัตวแพทย์ โดยมีระยะเวลาในการศึกษารวม 4 ปี หน้าที่หลักของนักเทคนิคการสัตวแพทย์คือรับผิดชอบงานทางห้องปฏิบัติการตรวจ วินิจฉัยโรคสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นงานทางด้านโลหิตวิทยา เคมีคลินิก ภูมิคุ้มกันวิทยา ปรสิตวิทยา จุลชีววิทยา ฯลฯ งานด้านการพยาบาลสัตว์ ซึ่งก็ทำหน้าที่คล้ายพยาบาลนั่นเอง นอกจากนั้นยังมีห้องปฏิบัติการเอ็กซ์เรย์ ไปจนถึงการดูแลสัตว์ป่าและสัตว์ทดลองซึ่งต้องอาศัยนักเทคนิคการสัตวแพทย์ในการทำงาน
เจ้าหน้าที่การสัตวแพทย์ (Veterinary technician) คือผู้ที่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตร ซึ่งใช้เวลาในการศึกษารวมทั้งสิ้น 2 ปี มีหน้าที่ในการดูแลสุขภาพสัตว์เบื้องต้นเช่นเดียวกับนักเทคนิคการสัตวแพทย์ แต่องค์ความรู้ยังไม่ลึกซึ้งเท่ากับนักเทคนิคการสัตวแพทย์
ผู้ช่วยสัตวแพทย์ (Veterinary Assistant) ซึ่ง อาจได้ผ่านการอบรมหรือการฝึกฝนเบื้องต้นทางด้านการดูแลสุขภาพสัตว์มาก่อน มีหน้าที่ในการเตรียมสัตว์ก่อนการตรวจรักษา เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดอุณหภูมิ จดบันทึกข้อมูลต่างๆ เพื่อให้สัตวแพทย์ได้ใช้ข้อมูลเบื้องต้นประกอบการวินิจฉัย